Digital Photography Audio & Video Computer Accessories Software Applications | Home |
|
ก่อนไปอเมริกา
และ
การเรียนที่ Oregon State University (OSU) เรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ คิดว่าจะเป็นการให้ความรู้แก่คนรุ่นหลัง ได้ทราบประวัติความเป็นมา และจะมีข้อคิดให้พิจารณาว่า การทำงานบางเรื่อง เราจะต้องเผชิญอะไรบ้าง ปัญหา อุปสรรค ที่เกิด เราจะเตรียมความพร้อมอย่างไร 1. ก่อนไปอเมริกา เมื่อเรียนจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณพ่ออยากให้รับราชการมาก ขนาดจะพาไปฝากที่ กรมชลประทาน ซึ่งขณะนั้นมีกองพลังน้ำ และมีการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลอยู่ แต่ก็มีการลิกไนท์ (Lignite Authority) มีโรงไฟฟ้าแม่เมาะและกระบี่ ผมจึงไปสมัครที่การลิกไนท์ด้วยตนเอง เพราะ ไม่อยากให้คุณพ่ออาศัย "เส้น" ไปฝากที่กรมชลประทาน ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี การลิกไนท์ก็ต้อง การมาก บอกว่าจะส่งผมไปทำงานที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาดไปตรวจโรค ทำการสมัครครบถ้วน พอถึงวันจะไปทำสัญญา ผมก็ตัดสินใจไม่ไปดีกว่า แล้วไปสมัครที่ การพลังงานแห่งชาติ ยศเส ที่นี่ดูน่าจะดี มีความหวังจะได้รับทุนไปเรียนต่อด้วย สมัยนั้น มีทุนที่เป็นยอดปรารถนา อยู่คือ ทุน เอไอดี (U.S. Agency for International Development) ทุนฟูลไบรท์ และก็ทุน ก.พ. พวกเราเพื่อนสนิท พากันไปสมัครงานที่การพลังงานแห่งชาติ มีผม ปัญญา เปรมปรีดิ์ ทวีวัฒน์ แขมณี พละ สุขเวช และกุมโชค ใบแย้ม ได้รับมอบหมายงานแรกๆ ก็คือ ออกไปสำรวจการใช้ไฟฟ้า และ ความต้องการไฟฟ้าในชนบท เป็นงานใหม่ ที่ทำให้ได้ไปทำงาน และเที่ยว เห็นสภาพในชนบท เมื่อปี พ.ศ. 2504 สมัยนั้น ข้าราชการชั้นตรี เกียรตินิยม ได้เงินเดือน 1,050 บาท มีเบี้ยเลี้ยงต่างจังหวัด วันละ 27 บาท เท่านั้น พวกเราก็อยู่ได้ แต่ไม่มีเงิน ต้องอาศัยพ่อแม่อยู่ กินฟรี พวกเราที่เข้าไปทำงานราชการ มีทั้งจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คือปัญญา และผม และนอกนั้น ได้ เกียรตินิยมอันดับสอง ทุกคนมีความหวัง หรือ Goal ในชีวิตไว้แล้วว่า จะต้องหาทางไปเรียนต่อเมืองนอก ให้ได้ และโดยเร็วที่สุดด้วย ดังนั้น พวกเราทุกคน พองานเลิกก็จะไปเรียนภาษาอังกฤษพิเศษกัน สมัยนั้น คนนิยมไปเรียนภาษาอังกฤษที่ เอยูเอ (American University Alumni) วังสราญรมย์ และที่ อาจารย์เกริก ถนนราชดำเนิน ผมก็ไปเรียนเช่นกัน โดยเฉพาะที่อาจารย์เกริก และยังมีที่แถวๆวัดบวรนิเวศน์ และต่อมาก็ ไปเรียนที่ เอยูเอ ถนนราชดำริ หลังจากทำงานได้เกือบปี ก็มีข่าวดีว่า มีทุน เอไอดี มาให้สาขาไฟฟ้า หลักการของทางราชการ เขาจะ ให้คนที่สอบเข้ารับราชการ ได้ที่ 1 ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวจริงรับทุน (Candidate) ก่อน และคนที่ 2 จะเป็นตัวสำรอง หรือ Alternate ถ้าคนแรกสอบภาษาอังกฤษผ่าน และตรวจร่างกายผ่าน ก็จะได้ทุน ไปเรียน ซึ่งจากการที่ผมสอบเข้ารับราชการได้ที่ 1 และมีความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ทุกอย่าง ก็ราบรื่น คือผมได้รับทุน เอไอดี แน่นอน โดยตอนแรกทางผู้จัดการโครงการ หรือ Project Manager ที่ กรุงเทพฯ บอกว่าจะให้ผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Cornell ซึ่งผมก็ดีใจมาก เพราะที่นั่นมีชื่อเสียงจึงได้ไปค้น หาหนังสือหลักสูตรการสอนทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้ามาดูเตรียมไว้ แต่ต่อมา มีรุ่นพี่ที่จะได้ไปพร้อมกันไป บอกฝรั่งว่าไม่ชอบที่หนาวมากๆ และประกอบกับทาง Cornell มีค่าเล่าเรียนที่แพง ดังนั้น ต่อมาทาง AID จึงได้เปลี่ยนเป็นให้ไปที่ Oregon State University (OSU) ซึ่งถูกกว่า และแถบนั้น อากาศไม่หนาวมากนัก ค่าเล่าเรียนก็ถูกกว่า ทาง AID กำลังต้องการจะประหยัดค่าใช้จ่าย จึงตัดสินใจย้ายให้ไปเรียนที่ OSU ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการศึกษา ทางด้านไฟฟ้า ที่ต่อมา ผมได้นำความรู้ทางด้าน EHV Transmission มาใช้ประโยชน์และทำประโยชน์ อย่างมากมายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หมายเหตุ : ความจริง เอไอดี ควรจะส่งผมไปเรียนที่ Cornell คนเดียว ส่วนรุ่นพี่ที่กลัวหนาว น่าจะให้ไปที่ OSU สำหรับเพื่อนรัก คือปัญญานั้น ได้ไปสมัครสอบได้ทุน ก.พ. ไปเรียนอเมริกา จนจบดอกเตอร์ กุมโชค ได้ สมัครสอบจนได้ทุนโคลอมโบ ไปเรียนที่ Waterloo Canada จบปริญญาโท ทวีวัฒน์ มีเงินมากกว่าจึง ไปเรียนด้วยทุนส่วนตัว และไม่กลับมา พละ เข้าทำงานสำนักงานแม่น้ำโขง อยู่พักใหญ่ ในที่สุดได้ไปฝึกงาน ที่ Bonneville Power Administration, Portand, Oregon และได้ สมัครเข้าเรียนต่อจบปริญญาโท จาก Oregon State University เช่นเดียวกัน 2. การเรียนที่ Oregon State University (คลิกที่นี่) |
ตั้งแต่วันที่ :
6 ก.พ.2545
ปรับปรุงล่าสุด :
4 ต.ค. 2566