![]() |
Digital Photography Audio & Video Computer Accessories Software Applications | Miscellaneous | Home |
เครื่องฟอกอากาศแบบ DIY |
||
เครื่องฟอกอากาศที่นำมาประกอบเองได้โดยง่าย มีราคาถูกระดับ
1,100 - 1,200 บาท
สามารถสั่งซื้อได้โดยไม่ต้องรอนานนัก
และสามารถกรองอากาศได้ดีเทียบเท่าเครื่องที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่า
เหมาะสำหรับใช้ในห้องที่มีขนาดประมาณ 20 -
25
ตารางเมตรนั้น มีขายหลายแบบ ซึ่งเกือบทั้งหมดใช้ใส้กรองอากาศแบบของ
Xiaomi คือเป็นของเทียบเท่าที่มีราคาถูก
แต่ก็ใช้ได้ดี หรือผู้ใช้จะซื้อของ
Xiaomi แท้มาเปลี่ยนในภายหลังก็ได้ ในการเลือกซื้อ ควรดูขนาดพัดลมดูดอากาศที่มีแรงดูดมากพอควร เช่น ขนาดต่ำสุด 4.5" และขนาด 6" และมีฝาครอบปิดมิดชิดหรือเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายอุโมงค์ลมเพื่อให้การดูดอากาศเข้ามากรองมีประสิทธิภาพดี แบบที่ 1. เครื่องฟอกอากาศ eAir1 Pro ตัวอย่างการนำเครื่องฟอกอากาศแบบ DIY ซึ่งมีขายเป็นชุด นำมาเสียบเข้าด้วยกัน ต่อไฟเข้าขั้วโดย DC Jack ก็ใช้ได้ มาทดลองใช้งาน แสดงได้ตามรูปที่ 1 |
||
|
||
|
||
|
||
|
||
|
||
ทดสอบ CADR
(Clean Air Delivery Rate) หรือ Airflow Rate การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศโดยวัดค่า CADR นั้น ส่วนมากผู้ผลิตจะทำการทดสอบในห้องปฎิบัติการ สำหรับการทดสอบง่ายๆนั้นอาจเรียกว่าทดสอบหาอัตราการถ่ายเทอากาศที่ผ่านเครื่องกรอง (Airflow Rate) ซึ่งทำโดยใช้เครื่องวัดความเร็วลม (Anemometer) วัดความเร็วลมที่ออกมาจากเครื่องกรองอากาศ เป็น meter/sec. ซึ่งอาจวัดที่บริเวณหน้าตะแกรงที่ลมออกหลายๆจุดมาหาค่าเฉลี่ยหรือวิธีที่ผู้เขียนใช้คือทำท่อลมต่อออกมาจากด้านบนเพื่อให้ลมมีความสม่ำเสมอมากขึ้น แล้ววัดความเร็วลมในบริเวณพื้นที่รอบนอกและพื้นที่รอบใน ตามรูปที่ 6 |
||
|
||
|
||
การคำนวณ
Airflow Rate
ทำได้ดังนี้ 1. พื้นที่ระบายลมทั้งหมด = Pi x r1 x r1 = 3.14159 x 7 x 7 = 153.94 ตารางเซนติเมตร, พื้นที่ระบายลม A2 = Pi x r2 x r2 = 3.14159 x 2 x 2 = 12.57 ตารางเซนติเมตร ดังนั้น พื้นที่ A1 = 153.94 - 12.57 = 141.37 ตารางเซนติเมตร 2. วัดความเร็วลมในบริเวณพื้นที่ A1 ได้เฉลี่ยประมาณ 2.7 m/s และในพื้นที่ A2 ได้ 1.7 m/s 3. Airflow ในพื้นที่ A1 = 141.37 x 2.7 x 3600 / 100 x 100 = 137.41 cu.m/h 4. Airflow ในพื้นที่ A2 = 1.7 x 3600 x 12.57 / 100 x 100 = 7.69 cu.m/h ดังนั้น Airflow ทั้งหมด = 137.41 + 7.69 = 145.1 cu.m/h (ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง) |
||
|
||
ผลการใช้งาน
สรุปได้ดังนี้ 1) การประกอบง่ายมาก 2) การใช้ไฟฟ้าเมื่อเร่งให้พัดลมหมุนแรงสุด ใช้ไฟประมาณ 5.7 วัตต์ ซึ่งน้อยมาก 3) เสียงเงียบมาก 4) ทดสอบโดยใช้งานในห้องขนาด 25 ตารางเมตร (5 x 5 x 2.6 ม.) ห้องแรก กรองอากาศที่มี PM 2.5 ระดับ 35 ลดลงเหลือ 2 - 3 ได้ และห้องที่ 2 ขนาดเท่าๆกันแต่มีเฟอร์นิเจอร์น้อยกว่า ก็ลดค่า PM 2.5 จากระดับ 35 ลงมาได้ถึง ระดับ 3 - 4 5) ผลการทดสอบ ค่า PM 2.5 ลดลงจาก 28 เป็น 7 ในเวลาประมาณ 30 นาที แสดงได้ตามกราฟในรูปที่ 8 6) ทดสอบ Airflow Rate คำนวณได้ประมาณ 145.1 cu.m/h Note : ในโฆษณาที่ขาย ระบุว่า Airflow = 150 cu.m/h |
||
|
||
แบบที่ 2. เครื่องฟอกอากาศแบบพัดลม 3.5 นิ้ว 12 V. | ||
เราสามารถประกอบเครื่องฟอกอากาศแบบง่ายๆ ราคาถูก
ได้โดยซื้อฝาที่มีพัดลมระบายอากาศขนาด 3.5 นิ้ว
ติดสำเร็จรูปมาใช้วางลงบนใส้กรองอากาศโดยใช้งบประมาณรวมใส้กรอง 700 - 800
บาท พัดลมระบายอากาศนี้มีขนาดเล็ก ใช้ไฟฟ้าเพียง
4
วัตต์ มีกำลังไม่มากนัก จึงเหมาะกับการใช้งานในห้องขนาดเล็กๆ
เช่น 16 - 20
ตารางเมตร |
||
|
||
แบบที่ 3. เครื่องฟอกอากาศแบบพัดลมดูดอากาศ 6 นิ้ว 220 V. | ||
พัดลมดูดอากาศแบบที่ใช้ดูดควันในการทำครัวหรือใช้ดูดอากาศออกจากห้องแบบที่มีราคาถูกๆนั้น
ก็สามารถนำมาดัดแปลงเล็กน้อยและใช้วางทับลงไปบนใส้กรองอากาศแบบที่ใช้ในเครื่องฟอกอากาศ
Xiaomi ได้ พัดลมดูดอากาศดังกล่าวมีขนาด
4, 6 , 8, 10 และ 12
นิ้ว ใช้ไฟ 220 V.
ซึ่งขนาดที่นำมาใช้กับใส้กรองอากาศ (21 x 29.5 ซ.ม.)
นั้น คือขนาด 6 นิ้ว โดยต้องนำมาดัดแปลง ถอดตะแกรงออกแล้วย้ายไปติดด้านลมออกแทน
พัดลมนี้ใช้ไฟประมาณ 31 วัตต์
มีแรงดูดอากาศดี นำมาทำเครื่องฟอกอากาศ
แม้จะดูไม่ค่อยสวยงามแต่ก็ใช้ฟอกอากาศสำหรับห้องขนาดพื้นที่ประมาณ
25 - 30 ตารางเมตรได้ดี
โดยใช้งบค่าพัดลม 250
บาท รวมใส้กรองทั้งหมดประมาณ
700 บาท การคำนวณ
Airflow Rate นั้น ทำวิธีเดียวกันกับที่แสดงไว้ข้างต้น ได้
Airflow Rate ประมาณ
180 cu.m/h |
||
|
||
|
||
แบบที่ 4. เครื่องฟอกอากาศแบบพัดลม 4.5 นิ้ว 12 V. | ||
การทำเครื่องฟอกอากาศแบบ
DIY
ที่ง่ายมากๆอีกแบบหนึ่งคือใช้พัดลมดูดอากาศที่ทำสำเร็จรูป (รูปที่
14) มีฝาตะแกรงปิดทั้ง 2
ด้าน มีขนาด 4.5 นิ้ว ใช้ไฟจาก
Adapter 220 / 12 V ซึ่งปรับความเร็วพัดลมได้
พัดลมนี้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 6 วัตต์
ให้ลมแรงพอสมควร เมื่อนำมาใส่ลงในใส้กรองอากาศแบบของ Xiaomi
ก็จะปิดได้พอดี และใช้เป็นเครื่องฟอกอากาศได้
จากการวัดความเร็วลมที่เป่าออกมาและคำนวณ Airflow Rate
ตามวิธีข้างบน ได้ Airflow ประมาณ
120
ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
ซึ่งพอใช้ได้กับห้องที่มีขนาดประมาณ 25 ตารางเมตร
สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าพัดลม 400
บาทและค่าใส้กรองอีก 400 บาท รวมเป็น 800
บาท |
||
|
||
|
||
|
||
สรุป | ||
การประกอบเครื่องฟอกอากาศแบบ DIY ขึ้นใช้เองอาจมีความจำเป็น เช่น หาซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ไม่ได้หรือต้องรอนานเป็นเดือน หรือมีราคาแพงขึ้นมาก หรือ ต้องการเครื่องฟอกอากาศมาเสริมกับเครื่องที่มีอยู่ หรือมีงบประมาณจำกัด ฯลฯ เป็นที่ทราบกันดีมาหลายปีแล้วว่าฝุ่น PM 2.5 จะมีมากปีละ 2 - 3 เดือน แต่การมีเครื่องฟอกอากาศไว้ก็สามารถใช้งานได้ตลอดไปเพราะกรองฝุ่นละออง ฯลฯ ได้ด้วยนอกจาก PM 2.5 การใช้เครื่องฟอกอากาศควบคู่กับเครื่องปรับอากาศก็จะช่วยให้ฝุ่นในห้องลดลง เครื่องปรับอากาศทำงานได้ดีขึ้น อาจจะทำให้ยืดเวลาการล้างแอร์ออกไปได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะการล้างแอร์เดี๋ยวนี้ราคา 500 - 600 บาท ต่อเครื่อง สำหรับผู้ที่พักอาศัยในห้องเช่า คอนโดมิเนียม โดยทั่วๆไปห้องจะมีขนาด 25 - 30 ตารางเมตร ดังนั้น การใช้เครื่องฟอกอากาศแบบ DIY เพียง 1 เครื่อง ก็อาจเพียงพอเพราะไม่ได้มีคนเดินเข้าเดินออกจากห้องบ่อยๆ และประหยัดค่าไฟฟ้าได้ด้วย เช่น เครื่องฟอกอากาศแบบที่ 1 ถ้าเปิดวันละ 12 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าเดือนละ (5.7 / 1000) x 12 x 30 = 2.052 หน่วยต่อเดือน หรือประมาณ 10 บาทต่อเดือน | ||
-------------------------------------- |
||
ข้อมูลที่น่าสนใจ
: - เครื่องฟอกอากาศเลือกอย่างไร วางตรงไหนดีที่สุด - เปรียบเทียบใส้กรอง Xiaomi - วิธีเลือกใส้กรอง - วิธีเลือกใส้กรอง Mi Air Purifier - ทำไมมีหลายสี - CADR คืออะไร - ตำแหน่งในการวางเครื่องฟอกอากาศ - Airflow และวิธีคำนวณ |
||
หมายเหตุ : บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่และแบ่งปันประสบการณ์ในการใช้เครื่องฟอกอากาศแบบประกอบเอง (DIY - Air Purifier) ผู้เขียนไม่ได้ขาย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาสินค้าและการขายอุปกรณ์ต่างๆที่นำมาแสดง |
วันที่ 17 ก.พ.
2568
ปรับปรุงล่าสุด :
13 มี.ค. 2568